วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

Game เพื่อการศึกษา

                post.gif
                    หากพูดถึงทฤษฎีเกมคนส่วนใหญ่จะนึกถึงทฤษฎีเกมในการนำไปใช้สำหรับสาขาทางเศรษฐศาสตร์ และสาขารัฐศาสตร์กันเป็นส่วนใหญ่ ดังจะเห็นได้จากข่าวการมอบรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2548 ให้กับ 2 นักเศรษฐศาสตร์ คือ Thomas Schelling และ Robert Aumann ซึ่งเป็นผู้นำ Game Theory มาใช้เพื่อทำความเข้าใจถึงสภาพของความขัดแย้ง และความร่วมมือ ความสัมพันธ์ขององค์กร และก่อนหน้านี้ในปี 2537 ได้มีการมอบรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ให้กับ John Nash , John Harsanyi และ Reinhart Selten ที่ได้ศึกษาเรื่องของทฤษฎีเกม(ถ้ายังจำได้มีการสร้างภาพยนตร์เรื่องชีวิตของ John Nash เรื่อง A Beautiful Mind ผู้คิดค้นทฤษฎี Nash Equilibrium หรือ จุลสมดุลของแนช) ทฤษฎีเกมไม่ได้ใช้เฉพาะสาขาเศรษฐศาสตร์หรือรัฐศาสตร์เท่านั้น แต่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับทางสาขาสังคมวิทยาอื่นๆ ได้อีกด้วย โดยเฉพาะการใช้ ทฤษฎีเกมเพื่อประโยชน์ในด้านสาขาการศึกษา ซึ่งการใช้ ทฤษฎีเกมเพื่อการศึกษานั้นมีความแตกต่างจากการประยุกต์ใช้ในสาขาอื่นๆ ตรงที่ทฤษฎีเกมตามทัศนะของนักเศรษฐศาสตร์เป็นการใช้หลักการทางคณิตศาสตร์และการคำนวณเพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสมในการแสดงพฤติกรรม หรือนำมาอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ มองว่ามนุษย์คือผู้ที่อยู่ในเกมและจะตัดสินใจเล่นเกมนั้นอย่างไร ในขณะที่ทฤษฎีเกมตามทัศนะของนักการศึกษาเป็นการใช้หลักการทางจิตวิทยามาใช้เพื่อสร้างหรือจัดประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านการเล่นให้กับผู้เรียน โดยมองว่ามนุษย์จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือมีการเรียนรู้อย่างมีความหมายในขณะหรือหลังจากการเล่นเกม โดยไม่ได้เน้นว่าเกมมีทางเลือกอย่างไรหรือควรจะตัดสินใจว่าจะเล่นเกมอย่างไร แต่เน้นผลที่ได้รับจากการเล่นเกม
            เกมในปัจจุบันเป็นเกมในลักษณะเล่นอย่างเดียว “mere play” คือ วัตถุประสงค์เพื่อความเพลิดเพลิน สนุกสนานในการเล่นเกมของผู้เล่น กระบวนการสร้างเกมประเภทนี้ไม่ซับซ้อนและยุ่งยากหากต้องการให้บรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้น แต่เกมเพื่อการศึกษาเป็นเกมที่มีลักษณะการเล่นเพื่อการเรียนรู้ “Play to Learning” วัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในขณะหรือหลังจากการเล่นเกม เรียนไปด้วยและก็สนุกไปด้วยพร้อมกัน ทำให้ผู้เรียนมีการเรียนรู้อย่างมีความหมาย กระบวนการสร้างเกมเพื่อการศึกษาจำเป็นต้องผ่านการออกแบบลักษณะของเกมโดยยึดตามหลักทฤษฎีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นเกมการศึกษาจึงเป็นเกมที่มีกระบวนการสร้างที่ซับซ้อน  และใช้เวลามากในการสร้างและพัฒนาการใช้และการสร้างเกมเพื่อการศึกษาในปัจจุบันมีลักษณะคล้ายๆกันคือ การนำเนื้อหาที่ต้องการให้ผู้เรียน เรียนนำเข้าไปแทรกในเกม แล้วให้ผู้เรียนได้เล่นเกมโดยเชื่อว่าความรู้หรือเนื้อหานั้นจะส่งผ่านไปยังผู้เรียนจนผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ในที่สุด โดยรูปแบบเกมที่สร้างขึ้นส่วนใหญ่จะคำนึกถึงเฉพาะความสะดวกและความง่ายในการสร้างและพัฒนาเกมเท่านั้น ทำให้เกมทางการศึกษาจึงมีการสร้างเพียงไม่กี่รูปแบบ และยังใช้เกมรูปแบบเดียวใช้สอนเนื้อหาที่ต่างกันเพื่อความง่ายและสะดวกในการสร้าง ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ารูปแบบเกมแบบเดียว สามารถใช้กับเนื้อหาที่แตกต่างกันได้จริงหรือ สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการเลือกรูปแบบเกมเพื่อนำมาใช้เพื่อการศึกษาจะต้องคำนึงถึงจุดประสงค์การเรียนรู้เป็นหลัก โดยสามารถจำแนกลักษณะของเกมแบ่งจุดประสงค์ของการเรียนรู้กับรูปแบบเกมที่เหมาะสม ดังนี้  (เกมคอมพิวเตอร์)
1. ความจำ ความคงทนในการจำ ลักษณะเกมเป็นชุดของเนื้อหาและแบบประเมินหลังจากการอ่านชุดเนื้อหาต่างๆ แล้ว รูปแบบเกม เช่น เกมแบบฝึกหัด,Quiz, เกม Crossword และเกม puzzles ต่างๆ  เป็นต้น
2. ทักษะ การกระทำ เป็นเกมในลักษณะจำลองสถานการณ์เรื่องราว การกระทำ การเลียนแบบ โดยมีการให้ผลป้อนกลับและมีตัวแปรอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น เวลา รูปแบบเกม เช่น เกม Simulation ต่างๆ เช่น เกมยิง, เกมขับรถ เป็นต้น
3. ประยุกต์ความคิดรวบยอดและกฎข้อบังคับต่างๆ เป็นเกมในลักษณะกฎและขั้นตอนวิธีการในการปฏิบัติ มีเงื่อนไขในการกระทำ เช่น เกมกีฬาต่างๆ
4. ตัดสินใจ การแก้ปัญหา ลักษณะเป็นเกมแบบเป็นเรื่องราว สถานการณ์ สามารถแสดงผลการกระทำได้ในทันที Real Time  รูปแบบเกม เช่น เกมวางแผน, เกมผจญภัย เป็นต้น
5. การอยู่ร่วมกับสังคม ลักษณะเป็นเกมเกมเกี่ยวกับการสื่อสาร การเล่าเรื่องแล้วมีทางเลือก รูปแบบเกม เช่น เกมวางแผน, เกมผจญภัย, เกมเล่าเรื่องราวแล้วให้เลือก(เกมภาษา) เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าจุดประสงค์การเรียนรู้ที่ต่างกัน เกมที่ใช้ก็แตกต่างกันไปด้วย ดังนั้นในการเลือกใช้และพัฒนาเกมในอนาคตเราจึงควรคำนึงถึงจุดประสงค์การเรียนรู้ควบคู่ไปกับรูปแบบเกมที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้เรียนรู้สึกสนุกไปพร้อมกับการเกิดการเรียนรู้ได้จริง









ที่มาของข้อมูล  http://kasineepuipui.wordpress.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น